ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ anime vegetables gif

วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ติดต่อ/สอบถาม เรื่องผักๆ

สวัสดีชาว blogger ทุกท่านที่เข้ามาชมบล็อกของเรานะคะ หากถ้าใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเทคนิคการปลูกสามารถคอมเม้นหรือinbox มาได้นะคะ แล้วแอดมินจะมาตอบทุกข้อสงสัยให้ทุกท่านเองค่ะ

วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แปลงปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ แบบ d.i.y







เคลื่อนที่ได้ เหมาะกับพื้นที่จำกัด และใช้วัสดุที่ซื้อมาให้คุ้มค่า แบบไม่เหลือเศษ วัสดุบางอย่างสามารถใช้แทนกันได้ เผื่อบางคนสนใจและนำไปสร้าง จะได้ข้อมูลที่ได้ไปคำนวณค่าใช้จ่าย เพื่อง่ายต่อความเข้าใจขอแบ่งชุดอุปกรณ์เป็น 5 ส่วน
เครื่องมือหลัก
1.    เครื่องเชื่อมไฟฟ้า
2.    สว่านไฟฟ้า
3.    ดอกสว่าน 9164 (เจาะรูใส่ตะปูเกียว)
4.    Hole Saw 38 mm. (เจาะหลุมปลูกผัก)
5.    เลื่อยเหล็ก
6.    ค้อน
7.    ไขควง
8.    ตลับเมตร ไม้บรรทัดฉาก ไม้บรรทัดยาว
9.    ปากกาเมจิก

 ชุดอุปกรณ์ขาตั้ง d.i.y  ขนาด 2 x 1.20 x 0.80 เมตร
1. เตรียมเหล็กกล่อง 1x1 นิ้ว ยาว 6 เมตร จำนวน 3 เส้น (นำมาตัดความยาว 2 เมตร จำนวน 3 เส้น สำหรับทำคานบน 2 เส้น คานล่าง 1 เส้น , ตัดความยาว 1.20  เมตร จำนวน 6 เส้น สำหรับทำคานบน 3 เส้น คานล่าง 3 เส้น , ตัดความยาว 0.80  เมตร จำนวน 6 เส้น สำหรับทำขา 6 ขา)
2. สีกันสนิม ขนาด 0.785 ลิตร



 ชุดอุปกรณ์แปลงปลูกผัก d.i.y
1. เตรียมท่อ PVC ขนาด 3 นิ้ว ยาว 4 เมตร จำนวน 3 เส้น (นำมาตัดความยาว 2 เมตร จะได้จำนวน 6 เส้น) เจาะหลุมปลูกผัก ระยะห่าง 25 เซนติเมตร (เส้นที่ 1 , 3 , 5 เส้นละ 7 หลุม เส้นที่ 2 , 4 , 6 เส้นละ 8 หลุม)
2. ข้องอ 3 นิ้ว 90 องศา จำนวน 8 ตัว สำหรับต่อทางน้ำเข้า 6 ตัว ต่อทางน้ำออก 2 ตัว
3. สามทาง 3 นิ้ว 90 องศา จำนวน 4 ตัว สำหรับต่อทางน้ำออก
4. ท่อ PVC ขนาด 3 นิ้ว ยาว 1 เมตร ตัดแบ่งออก 5 ท่อนๆ ละ 12 เซนติเมตร (สำหรับเชื่อมต่อทางน้ำอออก)
5. กาว ขนาด 250 g.
6. ข้อต่อตรงเกลียวใน 6 หุน (สำหรับทำสะดือน้ำล้น) +  ซิลิโคลน
7. กิ๊บจับท่อ 3 นิ้ว 4 อัน + ตะปูเกลียว 1 นิ้ว พร้อมแหวน 8 ชุด



 ชุดอุปกรณ์นำน้ำเข้าแปลงปลูกผัก d.i.y
1. เตรียมท่อ PVC  ½  นิ้ว ยาว 1.30 เมตร (เจาะ 6 รู ระยะห่างขึ้นอยู่กับแปลงผัก) + ข้องอ 90 องศา + หัวกันไหล + ฝาครอบ + กาว
2. สายยาง 5/8 นิ้ว ยาว 1 เมตร
3. ปั๊มน้ำ เลือกใช้งานตามความเหมาะสม
แบบที่ 1 AP 1200 สามารถปั้มน้ำได้ 600 ลิตร ต่อ ชั่วโมง ใช้ไฟฟ้า 8-9 watt ส่งน้ำได้สูงสุดที่ระดับ ไม่เกิน 65 cm จากระดับปกติ
แบบที่ 2 AP 1600 สามารถปั้มน้ำได้ 900 ลิตร ต่อ ชั่วโมง ใช้ไฟฟ้า 20-23 watt ส่งน้ำได้สูงสุดที่ระดับ ไม่เกิน 130 cm จากระดับปกติ
แบบที่ 3 AP 2500 สามารถปั้มน้ำได้ 2000 ลิตร ต่อ ชั่วโมง ใช้ไฟฟ้า 30-32 watt ส่งน้ำได้สูงสุดที่ระดับ ไม่เกิน 200 cm จากระดับปกติ
4. ถังน้ำ

  

 ชุดอุปกรณ์น้ำไหลออกแปลงปลูกผัก d.i.y
1. ข้อต่อตรงเกลียวนอก 6 หุน (สำหรับสะดือน้ำล้น ข้อ 6 ชุดอุปกรณ์แปลงปลูกผัก)
2. ท่อ PVC 6 หุน ยาว 2 เมตร + ข้องอ 90 องศา + กาว








 ชุดอุปกรณ์หลังคา d.i.y
1. เตรียมท่อ PVC ½ นิ้ว ยาว 4 เมตร จำนวน 7 เส้น (ดัดโค้ง 4 เมตร จำนวน 3 เส้น , ตัดความยาว 2 เมตร จำนวน 5 เส้น สำหรับทำคานด้านข้าง 2 ข้าง ส่วนด้านหน้า-หลัง ให้วัดอีกครั้ง
2. ตะปูเกลียว 1 1/2 นิ้ว พร้อมแหวน 12 ชุด สำหรับยึดขาโครงหลังคา
3. พลาสติกคลุมหลังคา 10 เมตร หรือตามความจำเป็น
4. Cable Tile 6 นิ้ว 1 ห่อ (ยึดจุดต่อโครงหลังคา)


 



ยอมทิ้งเงินเดือนหลักแสน หันปลูกผัก ‘ไฮโดรโปนิกส์’

ยอมทิ้งเงินเดือนหลักแสน หันปลูกผัก ‘ไฮโดรโปนิกส์’ รายได้ครึ่งล้านต่อเดือน!!


ขึ้นชื่อว่า ‘มนุษย์เงินเดือน‘ เปรียบเสมือนกับหุ่นยนต์ที่ต้องทำงานในรูปแบบซ้ำๆกัน ในแต่ละวันเพื่อให้ได้ผลงานที่ดีแลกกับเงินเดือนตามที่ตกลงไว้ บางคนโหมงานหนักจนไม่มีเวลาในการดูแลเรื่องสุขภาพของตัวเอง ไม่มีเวลาให้กับครอบครัวหรือคนรอบข้าง อีกทั้งยังเลือกรับประทานอาหารที่ทานง่าย อิ่มเร็ว แต่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย สุดท้ายร่างกายของคนเราก็รับไม่ไหวจนต้องล้มป่วยไปตามสภาพ
เช่นเดียวกับคุณเจส คาลโว อายุ 45 ปี อดีตผู้อำนวยการห้างสรรพสินค้าหลายๆ แห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นมนุษย์เงินเดือนมานานกว่า 20 ปี ยอมทิ้งเงินเดือนหลักแสน!! เพื่อมาเปิดฟาร์มผัก ‘ไฮโดรโปนิกส์‘ นั่นคือ ‘ฟาร์มรักดี’ ตั้งอยู่ภายในซอยศิริชัย 1/38 อ.เมือง จ.นนทบุรี ขอพาทุกท่านไปหาคำตอบกันว่า ทำไมคุณเจสถึงยอมทิ้งเงินเดือนหลักแสน..? มุ่งสู่การเป็นเจ้าของฟาร์มผัก ‘ไฮโดรโปนิกส์’
“ผมวางแผนไว้เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อที่จะออกจากการเป็นมนุษย์เงินเดือน และวางแนวทางในการประกอบธุรกิจส่วนตัว จนกระทั่งมาล้มป่วยหนัก ซึ่งสาเหตุมาจากการทำงานหนักจนไม่มีเวลาดูแลสุขภาพ ทั้งอาหารการกิน ตอนนั้นตัดสินใจทันทีว่าควรหันมาประกอบธุรกิจส่วนตัว เพื่อให้เวลากับตัวเองและครอบครัวมากขึ้น”
ทำไมถึงสนใจมาทำธุรกิจการปลูกผักแบบ ‘ไฮโดรโปนิกส์’
“ส่วนตัวผมเป็นคนชอบปลูกต้นไม้ แต่ปลูกทีไรก็ตาย เนื่องจากขาดความรู้ในเรื่องของการทำเกษตร จึงหันมาศึกษาเกี่ยวกับการทำการเกษตรอย่างจริงจัง และที่ตอบโจทย์มากที่สุดคือการปลูกผักแบบ ‘ไฮโดรโปนิกส์’ “
คุณเจส เปิดเผยว่าเริ่มแรกได้ศึกษาและทดลองปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในแปลงเล็กๆ ไม่ใหญ่มาก จนประสบความสำเร็จ ผักมีความสวยงาม จึงลงทุนอีก 6 แสนบาท เพื่อสร้างเป็นแปลงใหญ่ ช่วงนั้นมีลูกค้าติดต่อสนใจเข้ามาซื้อผักเป็นจำนวนมาก ตอนนั้นคิดว่าธุรกิจการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์กำลังไปได้สวยงาม
dscn6273
แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ฟาร์มของคุณเจสกลับประสบปัญหาเรื่องโรคแมลงจนผลผลิตเสียหาย ภายหลังได้ติดต่อไปยังผู้ที่จำหน่ายอุปกรณ์การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์เพื่อขอคำปรึกษา แต่กลับไม่ได้คำตอบในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างชัดเจน  ซึ่งเป็นการลงทุนครั้งแรกที่ล้มเหลวอย่างมาก คุณเจสกล่าว
จึงคิดทบทวนและตัดสินใจศึกษาข้อมูลการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในเชิงลึกแบบละเอียด ไปอบรมทุกๆที่ เรียกได้ว่าที่ไหนมีกูรูด้านการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ก็จะไปศึกษาทันที จึงนำความรู้จากผู้เชี่ยวชาญหลายๆที่ นำข้อมูลมาตกผลึกเป็นแนวทางและวิธีการของตนเอง จึงลงทุนเงินอีก 8 แสนบาท โดยยอมโละทิ้งอุปกรณ์เดิมที่ลงทุนในครั้งแรกไป เพื่อหาซื้ออุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน
สำหรับเรื่องสายพันธุ์ที่นำมาปลูกนั้น เป็นผักในตระกูล Lettuce หรือตระกูลผักกาดหอม ซึ่งเป็นผักเมืองหนาว จะสั่งซื้อโดยตรงมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยแบ่งเป็นผักสีเขียว 5 ชนิด และผักสีแดง 5 ชนิด เพื่อเพิ่มความหลากหลายในการเลือกซื้อของลูกค้า ดังนั้นการที่มาปลูกในประเทศไทยจึงเป็นอุปสรรคในการดูแลพอสมควร เนื่องจากเมืองไทยมีอากาศร้อนชื้น
ภายในฟาร์มของคุณเจส มีทั้งหมด 13 แปลง แยกเป็นแปลงเป็นอนุบาล 1 แปลง ในขั้นตอนการอนุบาลนั้นจะใช้เวลาประมาณ 20 วัน ถึงจะนำลงแปลงปลูกหลัก ซึ่งจะได้ประมาณ 480 ต่อแปลง จะใช้เวลาอีก 25 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว รวมระยะเวลาในการปลูกผักด้วยระบบ ‘ไฮโดรโปรนิกส์’ จะใช้ระยะเวลาประมาณ 45 วันก็สามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว
dscn6281
คุณเจสยังเผยอีกว่าข้อดีของการปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์นั้น เราสามารถควบคุมธาตุอาหารของผักได้ โดยนำธาตุอาหารไปละลายในน้ำใช้เวลาประมาณ 30 นาที ก็สามารถนำไปใช้ได้แล้ว ทั้งนี้ที่ฟาร์มของคุณเจส จะไม่ใช้สารเร่งแต่อย่างใด เพื่อให้ผักเจริญเติบโตเองตามธรรมชาติ
ซึ่งในแต่ละวันจะต้องตรวจสอบคุณภาพของผักทุกต้น เพื่อให้มั่นใจว่าผักทุกต้นมีคุณภาพและให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ซึ่งหากพบว่าต้นไหนมีโรคหรือมีความผิดปกติก็จะกำจัดทิ้งทันที ส่วนการพ่นละอ่องน้ำนั้น เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองร้อน จะต้องเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผักอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งข้อดีของเครื่องพ่นละอองน้ำยังเป็นการช่วยไล่แมลงศัตรูพืชไปในตัวด้วย
dscn6291
ส่วนโรคและแมลง ในแต่ละฤดูกาลจะแตกต่างกันออกไปช่วงหน้าร้อนต้องควบคุมเรื่องความชื้นให้ดี เนื่องจากถ้าปล่อยปละละเลย จะทำให้รากของผักเน่าและตายในที่สุด ส่วนในฤดูฝนนั้นจะมีปัญหาเรื่องใบลู่ เนื่องจากรากของต้นมีการแช่น้ำในปริมาณที่มากเกินไป จึงต้องควบคุมระดับน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และฤดูหนาวแน่นอนเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดของผัก เนื่องจากเดิมผักเป็นพืชเมืองหนาวอยู่แล้ว จึงเป็นช่วงที่ผักจะให้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพและสวยงามที่สุด
ส่วนรายได้จากการจำหน่ายผักไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งเก็บรวมทุกแปลงจะได้ประมาณ 140 กิโลกรัม สร้างรายได้ประมาณ 8 หมื่นบาทต่อเดือน!!!
แต่ด้วยความที่เป็นเคยทำงานด้านการตลาดจึงไม่หยุดการเจริญเติบโตของธุรกิจเพียงเท่านี้ คุณเจสเผยว่าการทำธุรกิจนั้นไม่ควรทำในแนวราบ ควรสร้างความแตกต่างหรือเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และเป็นความต้องการของตลาด จึงตัดสินใจที่จะทำร้านอาหารโดยใช้ผักในฟาร์มของตนเอง
แรกเริ่มนั้นต้องลงทุนไปศึกษาการทำอาหารด้วยตัวเอง ก่อนนำมาทำเป็นเมนูของตนเอง และถ่ายทอดสูตรให้กับเชฟของทางร้าน ซึ่งคุณเจสเผยว่าภายหลังต่อยอดธุรกิจการในการเปิดร้านอาหารเพียง 7 เดือนที่ผ่านมา ก็สามารถคืนเงินที่ลงทุนไปได้แล้ว
ทั้งนี้ที่ร้านจะจ้างเชฟมืออาชีพคอยคิดค้นหาสูตรอาหารใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อเพิ่มความหลากหลายของอาหาร และต้องให้บริการกับลูกค้าด้วยใจ สร้างความเป็นกับเองให้กับลูกค้า เรื่องด้านการตลาดนั้นคุณเจสยังบอกเพิ่มเติมว่า ข้อดีของในยุคโซเชียลมีเดียคือมีการแชร์ต่อกันอย่างมากมาย จนทำให้มีลูกค้าใหม่ๆ และรักษาฐานลูกค้าเดิมได้อย่างเหนียวแน่น
dscn6314
ซึ่งหากลูกค้าที่เข้ามารับประทานอาหารที่ร้านแล้วสนใจอยากซื้อผักสดๆจากแปลง ก็จะแบ่งจำหน่ายเพียงต้นละ 30 บาทเท่านั้น  ส่วนรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 6 แสนบาท!!!  ทั้งนี้ที่ ‘ฟาร์มรักดี’ ของคุณเจสมีการเปิดอบรมสำหรับผู้ที่สนใจในการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ โดยจะแนะนำขั้นตอนการทำอย่างถูกต้อง หากใครสนใจที่จะเดินทางไปที่ฟาร์มรักดี สามารถเดินทางไปได้ตามแผนที่ด้านล่างนี้
13626438_592851587552895_3975290940964565960_n
คุณเจสยังเผยอีกว่า วันนี้มองย้อนกลับไปจากการเป็นมนุษย์เงินเดือน ตอนนั้นที่ตั้งหน้าตั้งตาทำงานไปเพื่อมีชีวิต แต่วันนี้ผมได้ใช้ชีวิตได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักและชอบ และอยู่อย่างพอเพียงตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
***ข้อมูลเพิ่มเติม : การปลูกผักแบบ ‘ไฮโดรโปนิกส์’ ในประเทศไทยมีการปลูกกันมาหลายปีแล้ว ซึ่งเรียกง่ายๆว่าเป็นระบบ ‘ปลูกพืชไร้ดิน’ โดยมีน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญ สามารถควบคุมธาตุอาหารของพืชได้เป็นอย่างดี
dscn6267
dscn6309
dscn6324
dscn6274
dscn6277
dscn6287  dscn6303
dscn6308

dscn6312

วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2560

ความสำเร็จของผู้ผลิต


วันนี้เราจะพามาดูความสำเร็จของบุคคลต่างๆที่ได้มาทำธุรกิจ การปลูกผักไฮโดโปรนิกส์นี้ 
ในช่วงปี 2015 นี้ กระแสความนิยมในการบริโภคอาหารประเภทพืชผัก-ผลไม้ ก็ยังคงแรงดีไม่มีตก เนื่องมาจากเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพที่กำลังฮอตโดนใจหนุ่มสาวยุคใหม่ หรือแม้กระทั่งผู้สูงอายุที่เริ่มหันกลับมาใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยสภาวะโรคภัยไข้เจ็บที่มีมากมายในปัจจุบัน จึงทำให้ธุรกิจด้านการเกษตรเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน และหนึ่งในธุรกิจที่น่าจับตามอง ณ เวลานี้ คงต้องพูดถึง “การปลูกพืชด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์”

ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีสำหรับหลักสูตร “การปลูกพืชด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์เบื้องต้น” ของ อาจารย์ปกรณ์ พิสุทธิ์ชาน (อาจารย์เอก) วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกพืชด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์แถวหน้าของเมืองไทย และเป็นนักธุรกิจคนเก่งที่ประสบความสำเร็จ ในกิจการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ (ผักไร้ดิน) ภายใต้ชื่อ ไฮโดร ฮ็อบบี้ ที่ได้มาร่วมจัดอบรมกับมติชนอคาเดมี จนได้รับกระแสตอบกลับอย่างดีจากผู้เรียนหลากหลายรุ่น จนสามารถสร้างเครือข่าย และสร้างธุรกิจให้กับลูกศิษย์หลายคนประสบความสำเร็จมาได้จนถึงปัจจุบันนี้

เช่นเดียวกันกับ “Atena Farm : อธีน่าฟาร์ม”  ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากคอร์สเรียนนี้เช่นกัน

“Atena Farm : อธีน่าฟาร์ม” หนึ่งในฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์น้องใหม่ย่านบางขุนนนท์ ของ พล.ต.ท. ถาวรศักดิ์ เทพชาตรี (อดีต ผู้ช่วย ผบ.ตร.) และ คุณวรอนงค์ เทพชาตรี (บุตรสาว) โดยเจ้าของฟาร์มเป็นสองผู้เรียนจากคอร์ส “การปลูกพืชด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์” ของ อาจารย์ปกรณ์ ที่มติชนอคาเดมี ซึ่งหลังจากเรียนจบคอร์สไป ทั้งสองท่านก็เริ่มต้นศึกษาเกี่ยวกับการทำฟาร์มอย่างจริงจัง พร้อมกับได้ที่ปรึกษาอย่าง อาจารย์ปกรณ์ เข้ามาช่วยให้คำชี้แนะตั้งแต่กระบวนการสร้างโรงเรือน และการทำธุรกิจตั้งแต่แรกเริ่ม จึงทำให้เกิดฟาร์มแห่งนี้ขึ้น และถือได้ว่าเป็นฟาร์มน้องใหม่ไฟแรงย่านบางขุนนนท์ที่น่าจับตามองในขณะนี้เลยทีเดียว



พล.ต.ท. ถาวรศักดิ์ เทพชาตรี (อดีต ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ปัจจุบัน เกษียณอายุราชการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2551 กล่าวว่า
“แรกเริ่มเดิมทีเดียว ตอนก่อนเกษียณอายุ ผมตั้งใจว่าจะไปเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย ซึ่งระหว่างนี้เองก็ต้องไปเรียนปริญญาเอกเพิ่ม จนถึงช่วงอายุ 57-58 ปี ก็เรียนจบพอดี หลังจากเกษียณมาก็ได้เข้าสอนในมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา สอนอยู่ได้ประมาณ 3 ปี ก็รู้สึกว่าไม่ใช่งานที่ตัวเองชอบเท่าใดนัก และอยากลองทำอย่างอื่นมากกว่า
“จึงออกมาพัก คิดทบทวนตัวเองอยู่ 1 ปี คุณวรอนงค์ เทพชาตรี (บุตรสาว) ก็ชวนไปเรียนคอร์ส “การปลูกพืชด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์” ที่ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน (MATICHON Academy) โดยส่วนตัวเป็นคนชอบทานผักสลัดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงสนใจและลองสมัครเข้ามาอบรมดู ทำให้พบว่า การปลูกพืชระบบไฮโดรโปนิกส์นั้น มันมีปัจจัยหลายอย่างเหมือนกัน แต่ด้วยความชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หลังจบคอร์สเรียนจึงตัดสินใจลงทุนทำฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์เลยในทันที โดยได้อาจารย์ปกรณ์ วิทยากรในคอร์สเรียนนี้ที่คอยเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการของฟาร์ม รวมไปถึงการทำการตลาด และการจัดจำหน่ายด้วย”


“ตอนแรกก่อนจะเปิดฟาร์ม ค่อนข้างกังวลมากอยู่เหมือนกัน เพราะพื้นฐานเราทำงานเกี่ยวกับราชการมาก่อน ทำให้กังวลเรื่องของการตลาด และการทำธุรกิจ จึงชวนอาจารย์ปกรณ์แวะมาดูสถานที่ พร้อมพูดคุยแนวทางการทำฟาร์ม พออาจารย์ปกรณ์เห็นพื้นที่ ก็แนะนำว่าทำได้เลย เพราะพื้นที่กว้างขวาง อากาศถ่ายเท มีแสงแดดเพียงพอ เหมาะสมในการทำฟาร์มผักแน่นอน ตนจึงตัดสินใจลองเริ่มลงทุนจาก 14 โต๊ะก่อน ใช้เงินทุนโดยประมาณ 500,000 บาท ไม่รวมกับการปรับพื้นที่ดิน และจิปาถะอื่นๆ ซึ่งจากการศึกษามาเรื่อยๆ ก็พบปัญหาเล็กน้อย เช่น พื้นที่ปลูกผักมีแสงแดดไม่เพียงพอ แต่ก็ได้อาจารย์ปกรณ์คอยแนะนำและชี้แนะแนวทางแก้ไขให้มาโดยตลอด ทำให้การทำฟาร์มของผมค่อนข้างราบรื่นและมีปัญหาน้อย ส่วนหนึ่งก็ต้องบอกว่า เราโชคดีที่ได้ที่ปรึกษาที่มีความรู้ และคอยช่วยเหลือเรามาโดยตลอด อย่างอาจารย์ปกรณ์”

บนพื้นที่ขนาดใหญ่ ภายในฟาร์มแห่งนี้เราจะพบกับพันธุ์ผักไฮโดรโปนิกส์ยอดนิยมหลากหลายสายพันธุ์ โดยภายในฟาร์มจะเน้นปลูกเพื่อจำหน่ายอยู่ 7 ชนิด ก็คือ กรีนโอ๊ค (green oak), เรดโอ๊ค (red oak), บัตเตอร์เฮด (butter head), บัตตาเวีย (batavia), เรดคอรัล (red coral), ฟิลเล่ซ์ไอส์เบิร์ก (frillice iceberg), กรีนคอส (green cos) ซึ่งผักเหล่านี้จะมีลูกค้าทั้งขาประจำและขาจรแวะเวียนมารับไปจำหน่ายต่ออีกทอดหนึ่ง  ซึ่งโดยส่วนใหญ่ลูกค้าก็จะนำไปทำเป็นผักสลัด และมีบางส่วนนำไปจำหน่ายปลีกอีกทอดหนึ่ง ซึ่งจุดเด่นของผักที่ฟาร์มแห่งนี้ก็คือ ความสด-ใหม่-สะอาด และไม่นำผักที่ยังไม่พร้อมจำหน่ายมาขายให้กับลูกค้า ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องของจรรยาบรรณของทางฟาร์มที่มีให้กับลูกค้าทุกคน 


คุณวรอนงค์ กล่าวว่า “สำหรับปัญหาหลักของเราในเวลานี้ ก็คือ ผักไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย เพราะความต้องการของลูกค้ามีมาก ทำให้เราต้องเร่งปลูกผักให้ไวขึ้น จากเดิมที่เราจะเพาะต้นกล้าในทุกๆ 7 วัน ก็ต้องร่นเวลาลงมาให้ไวขึ้น เพื่อให้ทันกับความต้องการของลูกค้า โดยปกติเราจะขายผักได้วันหนึ่งเกือบๆ 10 กิโลกรัม แต่ถ้าเป็นวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ก็สามารถจำหน่ายได้ถึง 20 กิโลกรัม ถือว่าเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้เป็นอย่างดีทีเดียว”

“ความประทับใจในคอร์สการเรียนการสอนของมติชนอคาเดมีนั้น ต้องบอกว่า หลักสูตรการเรียนการสอนของที่นี่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ และดีมากๆ วิทยากรก็ให้ความรู้แบบเต็มที่ไม่มีกั๊ก และยังมีชุดทดลองการปลูกพืชผักไฮโดรโปนิกส์ให้กับผู้เรียนมาทดลองปลูกอีกด้วย ซึ่งจุดนี้เองถือเป็นการจุดประกายให้เราได้ลองเริ่มต้น พร้อมกับได้ลองทำจริง จนสามารถมองเห็นแนวทางในการประกอบธุรกิจในอนาคตได้ ซึ่งต้องขอบคุณอาจารย์ปกรณ์ ที่ช่วยจุดประกายแนวทางการทำธุรกิจมา ณ จุดนี้ด้วยค่ะ” คุณวรอนงค์ กล่าว


หลายคนเริ่มต้นการทำธุรกิจมาจาก “ความชอบ” บางคนก็เริ่มทำธุรกิจมาจาก “ความรัก” แต่แน่นอนว่าเป้าหมายปลายทางของทุกคนคือ ธุรกิจที่ทำสามารถเลี้ยงตัวเองได้ และมีกำไร ก็น่าจะถือได้ว่า คุณประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจขั้นต้นแล้ว

เผื่อใครไปเที่ยวเขาค้อ...แวะไปนะคะ
หนาวนี้ ปีนภู...ดูผักไฮโดรโพนิกส์...
แหล่งใหญ่ของประเทศ...ที่เขาค้อ...
ขึ้นชื่อเรื่องก็คงจะทราบแล้วว่าเราจะไปปืนเขากัน และเขาค้อในวันนี้ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตที่ติดอันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวที่หลงใหลธรรมชาติ ซึ่งที่นี่นอกจากจะมีทิวทัศน์ที่สวยงามของขุนเขาแล้ว เกษตรกรรมอันเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านที่นี่ก็เป็นเสน่ห์อีกอย่างที่ช่วยแต่งเติมสีสันให้เขาค้อน่าสนใจอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแปลงผัก ผลไม้ต่างๆ ที่มองไปสวยงามสุดลูกตา เช่นเดียวกับแปลงผักไฮโดรโปนิกส์ที่เต็มไปด้วยสีสันที่สวยงามของผักสลัดชนิดต่างๆ ของเขาค้อ สัปปายะพาร์ค ฝีมือของหนุ่มไฟแรง คุณโชษณ กรมกนกภรณ์ หรือคุณป๊อป ที่วันนี้ประสบความสำเร็จกับการปลูกผักสลัดไฮโดรโปนิกส์ป้อนให้กับร้านอาหารเลื่องชื่ออย่างซิสเลอร์และห้างสรรพสินค้าอื่นๆ จนทำให้ผักสลัดกลายเป็นผักเศรษฐกิจอีกชนิดของเขาค้อแห่งนี้ไปแล้ว เพราะไม่ใช่เพียงฟาร์มแห่งนี้เท่านั้น คุณป๊อปยังส่งเสริมชาวบ้านให้ปลูกผักสลัดส่งป้อนในรูปแบบของลูกไร่จนสามารถสร้างรายได้สร้างอาชีพใหม่ให้กับชาวบ้านที่นี่ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งมีคนรุ่นใหม่ขึ้นมาทำฟาร์มผักสลัดที่เขาค้ออีกเป็นจำนวนมาก จนอาจจะกล่าวได้ว่า เขาคือ คือ แหล่งใหญ่ของผักสลัดบ้านเราก็ว่าได้ โดยคาดว่าน่าจะไม่ต่ำกว่า 4,000 โต๊ะปลูก เลยทีเดียว โดยผักสลัดจากที่นี่จะถูกส่งไปจำหน่ายยังกรุงเทพฯ และจังหวัดท่องเที่ยวใหญ่ๆ ทั้งเชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต สมุย ฯลฯ วันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 10-15 ตัน
จุดเริ่มต้นของฟาร์มผักสลัดบนดอยสูง
คุณป๊อปเล่าถึงจุดเริ่มต้นก่อนที่จะมาสร้างสีสันของผักสลัดในฟาร์มแห่งนี้ว่า ถิ่นฐานของเขาอยู่ที่นี่ ครอบครัวมีอาชีพปลูกผักและผักยอดฮิตที่ปลูกกันมากที่นี่ก็คือกะหล่ำปลี ซึ่งนอกจากคุณพ่อจะปลูกเองแล้วยังรับซื้อผลผลิตของชาวบ้านไปจำหน่ายพร้อมกับส่งเสริมลูกไร่ให้ปลูกกะหล่ำป้อนให้อีกด้วย ตอนหลังมีคนชวนไปลงทุนปลูกกะหล่ำปลีที่ลาวซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า คุณพ่อจึงไปปลูกกะหล่ำที่ลาวอยู่นานนับปี แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะแม้ต้นทุนการผลิตจะต่ำกว่า แต่ต้นทุนค่าขนส่งและการจัดการด้านอื่นๆ ก็สูงและมีปัญหาตามมาอีกมาก สุดท้ายก็ต้องถอนสมอกลับบ้าน หลังจากที่ล้มเหลวจากการทำกะหล่ำที่ลาว คิดจะกลับมาเริ่มต้นกับกะหล่ำอีกครั้งที่เขาค้อก็ยากเพราะลูกไร่เดิมหันไปปลูกให้พ่อค้าคนอื่นหมดแล้ว
 ส่วนตัวคุณป๊อบเองเรียนจบด้านบริหารจาก ม.กรุงเทพฯ หลังเรียนจบก็ใช้ชีวิตต่อในกรุงเทพฯด้วยการเปิดร้านเช่าวีดีโอภายใต้ลิขสิทธิ์ของ ซึทาญ่า ที่โด่งดังมากเมื่อ 10 กว่าปีก่อน จังหวะที่ครอบครัวไม่รู้จะเดินไปทางไหนก็เป็นจังหวะเดียวกับที่ร้านเช่าวีดีโอของคุณป๊อบเริ่มประสบปัญหา ทั้งคนเช่าน้อยลง คนนิยมซื้อแผ่นซีดีมาดูเองที่บ้านมากขึ้น ค่าลิขสิทธิ์แผ่นซีดีสูง ต้นทุนสูงขึ้นแต่ผลตอบแทนลดลง สุดท้ายคุณป๊อปตัดสินใจหยุดธุรกิจเช่าวีดีโอแล้วกลับมาช่วยครอบครัว
ช่างเป็นความบังเอิญที่วันที่คุณป๊อปไม่รู้จะเดินหน้ายังไง เขาเปิดทีวีเห็นธุรกิจปลูกผักไฮโดรโปนิกส์เขาเริ่มเห็นทางออกและแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ คุณป๊อปเข้าไปศึกษาข้อมูลการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์จากแหล่งความรู้ต่างๆ ทั้ง อินเตอร์เน็ต หนังสือ ตระเวณดูฟาร์มไฮโดรโปนิกส์หลายแห่ง เขาใช้เวลาศึกษาอย่างจริงจังนานกว่าครึ่งปี ก่อนจะตัดสินใจลงทุนอย่างมั่นใจและเต็มไปด้วยความหวังบนพื้นที่ของญาติย่านรังสิต-นครนายก ลงทุนสร้างโรงเรือนกว่า 4 โรงเรือน ด้วยเงินลงทุนหลักล้าน แม้จะศึกษาข้อมูลมาอย่างดีแต่ทุกวันของการทำงานคือการเรียนรู้ในแปลงจริงไปพร้อมกัน และสุดท้ายเขาก็ประสบความสำเร็จ แต่หลังจากที่ผักเริ่มให้ผลผลิตเก็บขายได้เพียง 3 เดือน ก็มีปัญหาเรื่องขโมยสายไฟ จนเกิดความท้อและความไม่ปลอดภัย คุณป๊อปจึงตัดสินใจย้ายกลับมายังบ้านเกิดที่เขาค้อในปี 2553 คุณป๊อปเล่าว่า เขาใช้รถหกล้อ 7-8 คันเพื่อขนอุปกรณ์ ซึ่งอุปกรณ์ส่วนใหญ่เป็นโฟมที่มีน้ำหนักเบามากแต่ก็เปลืองพื้นที่ในการขนส่งมาก ส่วนตัวโรงเรือนก็รื้อไปที่เขาค้อทั้งหมด
ระบบการปลูกและวิธีการปลูก
 โรงเรือนในช่วงแรกที่รังสิตของคุณป๊อปเป็นโรงเรือนที่ทันสมัย ใช้โครงเหล็กทั้งหลัง คลุมด้วยพลาสติกรอบด้าน เป็นโรงเรือนระบบปิด ต้นทุนค่าโรงเรือนจึงค่อนข้างสูง ช่วงแรกคุณป๊อปรื้อโรงเรือนจากรังสิตมาตั้งที่เขาค้อเหมือนยกมาเลย แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ทำให้โรงเรือนปิดไม่เหมาะและไม่จำเป็นต้องลงทุนสูงสำหรับการปลูกผักสลัดในพื้นที่ที่ได้เปรียบด้านสภาพอากาศอย่างเขาค้อ
“เราไม่จำเป็นต้องปลูกผักในระบบโรงเรือนปิดในสภาพอากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปีอย่างเขาค้อ เราจึงเปลี่ยนมาเป็นโรงเรือนเปิดแทน ทำให้ประหยัดต้นทุนการผลิตได้มาก ในส่วนของโรงเรือน เราใช้เพียงหลังคาพลาสติก ด้านข้างปล่อยโล่ง โครงสร้างก็เปลี่ยนมาใช้ไม้ไผ่แทน ส่วนเหล็กที่เป็นโครงสร้างของโรงเรือนเดิมก็ถูกดัดแปลงมาเป็นโต๊ะปลูกแทนทั้งส่วนของขาโต๊ะและเหล็กยึดโต๊ะให้แข็งแรงแทน”
ระบบการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ของคุณป๊อป ใช้ระบบรางปลูกแบบ NFT หรือ ซึ่งเป็นระบบน้ำตื้นและเป็นเทคนิคที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิคส์ เทคนิคนี้รากพืชจะแช่อยู่ในลำรางที่มีความลาดเอียง 1-3 % มีน้ำหรือสารละลายธาตุอาหารไหลผ่านรากพืชแบบบางๆหรือตื้นๆ รางปลูกของคุณป๊อป กว้าง 1.20 เมตร ยาว 12 เมตร (วางราง 2 เส้นต่อกัน รางแต่ละเส้นยาว 6 เมตร) ต้นทุนค่ารางปลูกต่อเส้นประมาณ 500 บาท (ยาว 6 เมตร) 1 โต๊ะปลูกจะมี 480 ต้น (รางปลูก 9 แถว) ต้นทุนค่ารางปลูก 1 โต๊ะก็ประมาณหมื่นกว่าบาท ส่วนของไม้ไผ่ที่ทำโครงสร้างก็ไม่ต้องซื้อเพราะบนเขาค้อมีมหาศาล พลาสติกคลุมหลังคา ผืนละ 3000 บาท ทำได้ 7-8 โต๊ะ อายุการใช้งาน 2 ปีกว่าได้
การปลูกผักสลัดไฮโดรโปนิกส์ของคุณป๊อปเริ่มจากเพาะเมล็ดบนฟองน้ำ 3 วัน จากนั้นนำฟองน้ำ ที่ต้นกล้างอกแล้วมาอนุบาลบนรางปลูกแบบน้ำลึกหรือ DRFT เป็นระบบปลูกที่มีถาดปลูกทำด้วยโฟมเจาะรูปลูกพืช มีระดับของสารละลายธาตุอาหารพืชที่สูง ระดับความสูงของน้ำสารละลายประมาณ 10 ซม. ฟองน้ำกับรากต้องแตะกัน ส่วนในขั้นตอนของการอนุบาลจะใช้เวลาอนุบาล 15 วัน ย้ายต้นกล้าลงใส่ถาดอนุบาลต่ออีก 15 วัน แต่ช่วงนี้ต้องลดระดับน้ำลง ให้มีช่องว่างระหว่างฟองน้ำกับสารละลาย เพื่อหมุนเวียนอากาศ จากนั้นนำไปปลูกในรางปลูกแบบ ระบบน้ำตื้นหรือ แบบ NFT อีก 15 วัน เก็บขายได้แล้ว รวมระยะเวลาตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวก็ประมาณ 45 วัน ผักหนึ่งต้นหนักประมาณ 170-250 กรัม สำหรับสารละลายธาตุอาหารที่ใช้ก็จะมีสารละลาย เอ กับสารละลาย บี โดยสารละลาย เอ จะมีธาตุเหล็ก แคลเซียม ส่วนสารละลาย บีก็จะมีโปแตสเซียม แมกนีเซียม เป็นต้น ซึ่งจะต้องปรับสูตรธาตุอาหารในสารละลายให้เหมาะกับผักที่ปลูก ส่วนของระบบน้ำจะเป็นระบบหมุนเวียนน้ำ โดยน้ำจากบ่อปลูกจะหมุนเวียนลงมายังบ่อผสมปุ๋ย มีวาล์วปิด-เปิดน้ำเข้ามายังโต๊ะปลูก สารละลายธาตุอาหารจะให้ทุกวัน
การปลูกเน้นการป้องกันปัญหา โรค-แมลง เพราะถ้าเกิดปัญหาจะแก้ยากกว่าการป้องกัน ปกติแล้วก็จะไม่มีปัญหาอะไรแต่ถ้าเมื่อไหร่มีฝนตกโรคจะตามมาทันทีแม้จะปลูกใต้หลังคาพลาสติกที่ไม่โดนฝนก็ตาม ผักสลัดมักจะเป็นใบจุด ที่นี่จะพ่นสารเคมีป้องกันไว้ก่อน เน้นการใช้สารเคมีที่มีความปลอดภัยสูง ประสิทธิภาพสูง
โดยใช้ เฮดไลน์ แมนโคซ็บ แต่ก่อนเก็บผัก 10 วัน จะหยุดใช้สารเคมีทุกชนิด ส่วนแมลงก็มีบ้างแต่ไม่มาก สารเคมีที่ใช้ก็จะมี เรมแพจ ซัคเซส คุณป๊อปบอกว่าส่วนใหญ่แล้วผักจะมีโอกาสเสียหายมากในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล อย่างร้อนมาหนาว ร้อนมาฝน ตรงนี้ต้องควบคุมน้ำให้ดี บางรายมีปัญหารากเน่าโคนเน่า ปัญหานี้เกิดจากอุณหภูมิของน้ำสูงเกินไป จึงทำให้ผักสลัดที่ปลูกระบบไฮโดรโปรนิกส์ในเขตภาคกลางเสียหายมากในช่วงหน้าร้อน แต่ที่นี่ได้เปรียบเรื่องอากาศ จึงสามารถผลิตผักได้ตลอดทั้งปี
กำลังการผลิตผัก 12 ตัน/สัปดาห์
ส่งป้อนซิสเลอร์ แมคโคร
ที่นี่จะมีกำลังการผลิตผักประมาณ 12 ตัน/สัปดาห์ โดยจะมีการวางแผนปลูกทุกวัน เพื่อให้ผักที่ปลูกใหม่ทดแทนผักที่ตัดออกจากแปลงตลอด ที่นี่มีโต๊ะปลูกอยู่ 500 โต๊ะ หนึ่งโต๊ะปลูกได้ 480 ต้น รวมรางปลูกทั้งหมดก็จะสามารถปลูกผักได้มากกว่า 2.4 แสนต้นเลยทีเดียว
 ผักที่ปลูกมี 6 ชนิด คือ เรดโอ๊ต กรีนโอ๊ต เป็นตัวหลัก รองลงมาเป็น เรดโคเรล กรีนโคเรล บัตเตอร์เฮดและฟิเลย์ ผลผลิตผักที่ฟาร์มจะถูกส่งมาแพ็คที่โรงแพ็คในกรุงเทพฯ ก่อนจะส่งให้กับผู้รับซื้อ โดยตลาดหลัก คือ แมคโครและซิสเลอร์ โดยส่วนของแมคโครจะแพ็คใส่ถุงๆละครึ่งกิโลกรัมและหนึ่งกิโลกรัม ส่งของทุกวันๆละ 300-500 กก. ส่วนของซิสเลอร์ส่งสัปดาห์ละ 1.5-2 ตัน โดยส่งตรงในแต่ละสาขา (ส่งอยู่ประมาณ 20 สาขา) สาขาหนึ่งมียอดสั่งซื้อสัปดาห์ละ 500-600 กก. นอกจากนี้ก็มีตลาดทางใต้ เช่น สงขลา ภูเก็ต ส่งให้กับโรงแรม รีสอร์ท ทางเครื่องบิน สัปดาห์หนึ่งก็ประมาณ 3 ตัน มีลูกค้าร้านอาหารทั่วไปซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นร้านสเต็กอย่างเช่น โชคชัยสเต็กเฮ้าส์ สหรัฐสเต็ก เป็นต้น
สำหรับราคาขายคุณป๊อปบอกว่าแต่ละตลาดราคาไม่เท่ากัน โดยเฉลี่ยก็จะอยู่ที่ 60 บาท/กก. อย่างแมคโครส่ง 87-97 บาท/กก. หักค่าการตลาด 3-5% ราคาขายที่แมคโครก็ 100 กว่าบาท ส่วนราคาขายปลีกลูกค้าทั่วไปอยู่ที่กิโลกรัมละ 80-90 บาท ขณะที่ต้นทุนต่อ กก. คุณป๊อปบอกว่าเพียง 7-10 บาทเท่านั้น
ฟาร์มผักสลัดของคุณป๊อปนอกจากจะสร้างชื่อเสียงให้กับเขาค้อซึ่งกลายเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมอยู่เป็นประจำแล้ว ฟาร์มแห่งนี้ยังสร้างงานให้กับชาวบ้านที่นี่อีกเป็นจำนวนมาก ที่นี่มีคนงานกว่า 15 คน ค่าแรงคนละ 250 บาท ค่าจ้างคนงานแต่ละเดือน 6-8 หมื่นบาท คุณป๊อปยังมีลูกไร่ที่ผลิตผักสลัดป้อนให้กับที่อีกกว่า 32 รายในปัจจุบัน กำลังการผลิตวันละ 4-5 ตัน ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ซึ่งคุณป๊อบจะป้อนความรู้และเทคโนโลยีให้ทุกอย่าง พร้อมกับรับซื้อผลผลิตคืน ซึ่งปกติแล้วชาวบ้านที่นี่จะมีอาชีพทำไร่ข้าวโพด ปลูกข้าว ปลูกผักทั่วไป ซึ่งมีรายได้เดือนละไม่กี่พันบาท แต่หลังจากมาปลูกผักสลัดชาวบ้านแต่ละรายมีรายได้หลักหมื่นต่อเดือน สร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับชาวบ้านอย่างมาก
 คุณป๊อปกล่าวทิ้งท้ายว่า ผักสลัดยังเป็นผักที่น่าสนใจในการลงทุนอย่างมาก ตลาดยังเปิดกว้าง คนที่ปลูกผักสลัดไฮโดรโปนิกส์มีจำนวนมากก็จริงแต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ประสบความสำเร็จซึ่งนอกจากเรื่องของสภาพอากาศแล้วเรื่องของการจัดการมีส่วนมาก คนทำผักสลัดส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยได้ลงมือทำเอง ปล่อยให้คนงานทำ โอกาสสำเร็จจึงยาก เพราะการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ แต่ถ้าประสบความสำเร็จ ผักไฮโดรโปนิกส์จะลงทุนต่ำและให้ผลตอบแทนที่สูงอย่างมาก







ผักที่นิยมใช้ปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์




ผักสลัดชนิดต่างๆ ที่นิยมปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์


การปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์กำลังเป็นที่นิยมในเมืองไทย ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าธุรกิจการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์หรือการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินในประเทศไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว สามารถพบเห็นผลิตภัณฑ์จากไฮโดรโปนิกส์ส่วนหนึ่งวางจำหน่ายอยู่ในห้างสรรพสินค้าทั่วไปในโซนขายผักปลอดสารพิษ ในบล็อกนี้เรามาดูกันว่าผักสลัดชนิดต่างๆ ที่นิยมปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ มีอะไรกันบ้าง
ผักสลัดชนิดต่างๆ ที่นิยมปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์
กรีนโอ๊ค (Green Oak) เป็นผักตระกูลสลัดต่างประเทศ มีลักษณะเป็นผักใบหยักสีเขียวอ่อน รูปทรงสวยเป็นพุ่ม รสชาติหวานกรอบคล้ายผักกาดหอม ผักมีอายุประมาณ 40-45 วัน หลังจากลงแปลงปลูก นิยมทานสดเพราะมีคุณค่าทางสารอาหาร ช่วยในการสร้างเม็ดเลือด บำรุงสายตา บำรุงเส้นผม บำรุงประสาทและกล้ามเนื้อ
ผักสลัดชนิดต่างๆ ที่นิยมปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์
เรดโอ๊ค (Red Oak) เป็นผักตระกูลสลัดต่างประเทศ มีลักษณะเป็นผักใบสีแดงเข้มและเขียวเข้ม ใบซ้อนกันเป็นชั้น ปลายใบหยิกแยกเป็นแฉก เป็นพุ่มหยักสีสวยงาม นอกจากนี้ยังมีกากใยอาหารมากมาย ซึ่งช่วยในเรื่องระบบการย่อย บำรุงสายตา บำรุงกล้ามเนื้อ ป้องกันโรคปากนกกระจอก ช่วยล้างผนังลำไส้ กำจัดพวกไขมัน มีธาตุเหล็กและวิตามินซีสูง
ผักสลัดชนิดต่างๆ ที่นิยมปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์
เรดคอรัล (Red Coral) มีลักษณะเป็นพุ่ม ไม่ห่อหัว ปลายใบหยัก ใบมีสีแดงอมม่วง รสชาติหวานและกรอบกว่าเรดโอ๊ค ควรรับประทานตอนยังอ่อนๆ เพราะถ้าแก่ใบจะแข็งและกินไม่อร่อย เหมาะสำหรับนำไปเพิ่มสีสันในจานสลัดหรือกินเป็นเครื่องเคียง มีสรรพคุณช่วยสร้างเม็ดเลือด มีวิตามินซีสูง ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง ป้องกันโรคปากนกกระจอก มีเส้นใยอาหารสูงช่วยระบบขับถ่ายได้ดี กากใยเหล่านี้จะช่วยล้างผนังลำไส้ กำจัดพวกไขมันและอนุมูลอิสระที่เกาะตามผนังลำไส้อันเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้
ผักสลัดชนิดต่างๆ ที่นิยมปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์
ฟิลเล่ย์ไอซ์เบิร์ก (Frilly Iceberg) มีลักษณะเป็นทรงพุ่ม ใบเป็นฝอยหยิกคล้ายเกล็ดน้ำแข็ง มีสีเขียว ห่อหัว กาบใบห่อเข้าหากันเป็นชั้นๆ ปลายใบหยิกเป็นฝอย ใบแข็งกรอบ ฉ่ำน้ำ มีรสหวาน นิยมบริโภคสดเป็นสลัดหรือใช้เป็นเครื่องเคียงในอาหารประเภทยำที่มีรสจัด มีสรรพคุณช่วยในการสร้างเม็ดเลือด มีวิตามินซีสูง สามารถป้องกันโรคหวัดและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายได้
ผักสลัดชนิดต่างๆ ที่นิยมปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์
บัตเตอร์เฮด (Butter Head) เป็นผักที่มีลักษณะใบอ่อนนุ่มเป็นมันเรียงซ้อนกันคล้ายดอกกุหลาบ เป็นพืชที่ต้องการสภาพอากาศเย็นจึงจะเจริญเติบโตได้ดี อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 10-24 องศาเซลเซียส ในสภาพอุณหภูมิสูงการเจริญเติบโตทางใบจะลดลง พืชจะสร้างสารคล้ายน้ำนมหรือยางออกมา รวมทั้งมีปริมาณเส้นใยสูงและเหนียว ทำให้มีรสขม ส่วนใหญ่นิยมปลูกในโรงเรียน มีอายุเก็บเกี่ยว 50 วัน นิยมรับปรัมานสดทำเป็นเมนูสลัดหรือเครื่องจิ้มคู่น้ำพริกแบบไทยๆ มีสรรพคุณช่วยบำรุงเส้นผม บำรุงผิว ลดคอเรสเตอรอล บำรุงประสาท และป้องกันโลหิตจาง
คอส (Cos) สลัดคอสหรือผักกาดหวาน ลักษณะใบตั้งขึ้น มีสีเขียวเข้ม เนื้อใบหนา มีเส้นนูนเด่นในใบปลายโค้งเข้า มีทั้งพันธุ์สีเขียวและแดง (Red Romaine) มีสรรพคุณช่วยบำรุงสายตา บำรุงผม บำรุงกล้ามเนื้อ บำรุงผิว และลดคอเรสเตอรอล
ร็อกเก็ต (Rocket) ร็อกเก็ตเป็นผักสมุนไพรชนิดหนึงของชาวตะวันตก ลักษณะต้นเป็นพุ่ม ใบมีสีเขียวเข้ม ใบมีลักษณะอ่อนเรียวยาวและหยิกตรงขอบพอประมาณ รสชาติของร็อกเก็ตคือสิ่งที่ทำให้ผักชนิดนี้มีชื่อเสียงกว่าผักชนิดอื่น เพราะมีความเผ็ดเหมือนพริกไทย ร็อกเก็ตเป็นผักที่มีประโยชน์ เต็มไปด้วยวิตามินซีและโปรแตสเซี่ยม ที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง ที่สำคัญทานง่ายมากๆ ทานเปล่าก็ยังอร่อย หรือหากใครที่ชอบทานแบบอิตาเลียน ก็สามารถนำไปทำสลัดทานกับชีสมอสเซอเรลล่า หรือมะเชือเทศตากแห้งก็ได้เหมือนกัน
วอเตอร์เครส (Watercress) สลัดน้ำหรือวอเตอร์เครส เป็นพืชกินใบ มีความสูงของต้นประมาณ 10-25 เซนติเมตร มีลักษณะลำต้นเป็นข้อๆ มีรากออกมาตามข้อ สามารถตัดแยกนำมาขยายพันธุ์ได้ มีใบคล้ายรูปหัวใจและเรียวยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร เจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีความชื้นสูง มีแสงแดดรำไร การรับประมานนิยมทานสดแบบสลัดร่วมกับผักกาดหอม มีวิตามิน เอ อี และ ซี สูงกว่าผักกาดธรรมดาถึง 2 เท่า
เรดปัตตาเวีย (Red Batavia) เป็นผักสลัดกลุ่ม Crip Leaf มีลักษณะใบเป็นแผ่นรูปหยดน้ำ ขอบใบหยิกเป็นคลื่น เป็นทรงพุ่ม ห่อหัวแบบหลวมๆ มีทั้งสีเขียวและสีแดง เป็นผักสลัดที่นิยมมากในแถบยุโรปตอนใต้และในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา นิยมรับประมานสดเป็นสลัดเพราะมีคุณค่าทางสารอาหาร คือช่วยบำรุงสายตา บำรุงเส้นผม บำรุงประสาทและกล้ามเนื้อ บำรุงผิวพรรณ ป้องกันโรคปากนกกระจอก ช่วยในการสร้างเม็ดเลือด ให้เส้นใยอาหารสูง ขจัดอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคหวัด
ผักกาดหอม (Lettuce) ผักกาดหอมเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดทั้งทวีปเอเชียและทวีปยุโรป เป็นพืชฤดูเดียว มีลำต้นอวบสั้น ช่วงข้อใบถี่ ใบจะเจริญจากข้อเป็นกลุ่ม มีทั้งแบบห่อหัวและไม่ห่อหัว มีหลายสายพันธุ์ นิยมนำมาทานสด ใช้เป็นผักรองจาน ปรุงในเมนูแกงจืด ยำ ใช้เป็นเครื่องเคียงของอาหารกินเล่น เช่น สาคูไส้หมู ข้าวเกรียบปากหม้อ เป็นผักที่มีเบต้าแคโรทีน โฟเลท และธาตุเหล็กสูง ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง เหมาะสำหรับสตรีมีครรภ์และผู้ป่วยโรคเบาหวาน

วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2559

การปลูกผักไฮโดรโปรนิกในขวดที่ใช้แล้ว

ค่ะวันนี้เราก็จะมาเรียนรู้วิธีการปลูกผักไฮโดรโปรนิกในขวดที่ใช้แล้วกัน
จากขวดที่ใช้แล้วไม่มีค่าอะไรแต่เราสามารถนำมาใช้ปลูกผักไว้รับประทานเองได้ง่ายๆ 
เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นที่ดินในการใช้เพาะปลูกแต่มีแสงแดดส่องลงมาบริเวณที่จะปลูกต้นไม้ 
เช่น ระเบียงห้องพัก ริมรั้ว ริมทางเดิน
หน้าอาคาร
เหตุที่ได้มาลองปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ 
เพราะปลูกง่าย โตเร็ว ใช้ประกอบอาหารได้หลากหลาย 
ใช้รับประทานสดๆ ร่วมกับอาหารได้ทุกมื้อเป็นการรับวิตามินและเกลือแร่โดยตรง 
ที่ปลอดภัยมากกว่าการซื้อผักจากตลาด หรือช่วยประหยัดได้มาก หากเทียบกับการซื้อผักสลัด
จากซุปเปอร์มาเก็ต 
มีข้อดีขนาดนี้แล้ว ใครอยากลองบ้างยกมือขึ้น 
ผักที่เพาะเมล็ดปลูกรอบนี้ จัดมามีสลัดหลายชนิด ผักคะน้า กะหล่ำดอก
พริกหวานและมะเขือเทศเนื้อ 
ว่าแล้วมาดูการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์กันเลยค่ะ 

มาเตรียมอุปกรณ์และวัสดุใช้ปลูก


1. สารอาหารแร่ธาตุของต้นไม้ที่ใช้แทนดิน คือ ปุ๋ย A และ ปุ๋ย  B
ซื้อได้ตามร้านขายวัสดุการเกษตร

มีแบบเป็นผง มาละลายน้ำเอง และแบบเป็นน้ำสำเร็จรูปมาเลย เลือกตามถนัด

การผสมน้ำดูตามสูตรของแต่ละยี่ห้อที่กำหนด



2. ขวดน้ำพลาสติกที่ดื่มน้ำหมดแล้ว ขนาด 600 มล ตัดปลายขวดด้านบน
ไว้เป็นฝาใส่ต้นไม้

3. ถังน้ำ/แกลลอนสำหรับใส่น้ำเวลาใช้เติมให้ต้นไม้เวลาน้ำลดลง
(เหมือนการรดน้ำให้ต้นไม้ทุกวัน)
4. กระดาษหนังสือพิมพ์เก่า กระดาษเก่า ๆ ไม่ใช้แล้ว
สำหรับปิดรอบขวดพลาสติกใส ๆ ไม่ให้แสงแดดส่งในน้ำ
เกิดตะไคร่น้ำไปแย่งอาหารต้นไม้
5. ปากกาเขียนชื่อต้นไม้ที่ปลูก
6. ฟองน้ำเจาะช่องไว้ใส่ต้นกล้า
7. หลอดขนาดใหญ่ที่ใช้ดูดชาไข่มุก
(สำหรับแทงฟองน้ำและสอดต้นกล้าเข้าไปในฟองน้ำได้ง่าย)
8. เมล็ดพันธุ์ผักที่ต้องการปลูก
สามารถปลูกได้ทุกชนิด


รูปตัวอย่าง



  




 





วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ผักไฮโดรโปรนิกส์




 ไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics)


ประวัติความเป็นมา

          ไฮโดรโปนิกส์ (hydroponics) เป็นคำที่มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า hydro ซึ่งแปลว่าน้ำ และคำว่า ponos แปลว่าทำงานหรือแรงงาน เมื่อรวมกันจึงมีความหมายว่าการทำงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ประวัติความเป็นมาของการปลูกพืชโดยวิธีนี้นั้นเริ่มมาจากการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ธาตุอาหารต่างๆ ในการปลูกพืช ซึ่งมีมาตั้งแต่หลายพันปีก่อนสมัยของอริสโตเติล จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่านักวิทยาศาสตร์หลายท่านได้เขียนบันทึกต่างๆ ทางพฤกษศาสตร์ขึ้นและปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ แต่การปลูกพืชตามหลักการทางวิทยาศาสตร์นั้นเริ่มขึ้นประมาณ 300 ปีมาแล้ว คือประมาณ ค.ศ. 1699 John Woodward นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษได้พยายามทำการทดลอง เพื่อหาคำตอบว่าอนุภาคของของแข็งและของเหลวที่อยู่ในดินมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชอย่างไร ต่อมาปี ค.ศ. 1860-1865 นักวิทยาศาสตร์ชื่อ Sachs และ Knop นับเป็นผู้ริเริ่มปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ โดยการปลูกพืชด้วยสารละลายเกลือ อนินทรีย์ต่างๆ เช่น โพแทสเซี่ยมฟอสเฟต โพแทสเซี่ยมไนเตรต ซึ่งให้ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซี่ยม แมกนีเซียม กำมะถัน แคลเซียม และเหล็ก ภายหลังมีการพัฒนาสูตรธาตุอาหารพืชเรื่อยมา จนถึงปี ค.ศ. 1920-1930 William F.Gericke แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ประสบความสำเร็จในการปลูกมะเขือเทศในสารละลายธาตุอาหาร โดยพืชมีการเจริญเติบโตสมบูรณ์และให้ผลผลิตเร็ว นับเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเทคนิคการปลูกพืชโดยวิธีนี้ไปประยุกต์ใช้เพื่อปลูกพืชเป็นการค้า และได้มีการพัฒนาเทคนิควิธีการและส่วนประกอบในสารละลายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics) เป็นการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินแต่ใช้น้ำที่มีธาตุอาหารพืชละลายอยู่ หรือ การปลูกพืชในสารละลายธาตุอาหารพืชทดแทน   ซึ่งนับเป็นวิธีการใหม่ในการปลูกพืช  โดยเฉพาะการปลูกผักและพืชที่ใช้เป็นอาหาร เนื่องจากประหยัดพื้นที่ และไม่ปนเปื้อนกับสารเคมีต่างๆ ในดิน ให้ได้พืชผักที่สะอาดเป็นอาหาร ปัจจุบันนี้ในเทคนิคการปลูกพืชแบบไร้ดินหลายแบบด้วยกัน
คำว่า ไฮโดรโปนิกส์ (hydroponics) เป็นคำผสมระหว่างคำ 3 คำ คือ

 • ไฮโดร (hydro) หมายถึงน้ำ  
 • โปโนส (ponos) เป็นคำที่มาจากภาษากรีก หมายถึงการทำงาน และ
 • อิกส์ (ics) หมายถึงศาสตร์หรือศิลปะ


ซึ่งเมื่อรวมคำทั้ง 3 คำเข้าด้วยกันจึงมีความหมายตามรูปศัพท์ว่า ศาสตร์หรือศิลปะว่าด้วยการทำงานของน้ำ
            ปัจจุบัน การปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์มีเทคนิคที่คิดค้นใหม่ๆหลากหลายรูปแบบ มิได้จำกัดอยู่เฉพาะการปลูกพืชในน้ำ (water culture) เท่านั้น   บางกรณีมีการใช้วัสดุปลูก (substrate)  ทดแทนดินทั้งหมดและรดด้วยสารละลายธาตุอาหารพืช ซึ่งเรามักเรียกว่า ซับส์เทรต คัลเจอร์ (substrate culture) หรือมีเดีย คัลเจอร์ (media culture) หรือแอกกรีเกตไฮโดรโปนิกส์ (aggregate hydroponics)  เทคนิคดังกล่าวนิยมเรียกว่า การปลูกโดยไม่ใช้ดิน หรือ การปลูกพืชไร้ดิน (soilless culture)  ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าเทคนิคการปลูกพืชในน้ำก็ดี  หรือ  การปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์รูปแบบอื่นๆ ก็ดี   บางครั้งก็อาจเรียกรวมๆ ว่า soilless culture แทนคำว่า hydroponics ก็ได้ 
             ไฮโดรโปนิกส์ มีประโยชน์หลักๆ 2 ประการด้วยกัน ประการแรกคือช่วยให้มีสิ่งแวดล้อมที่ควบคุมได้มากขึ้นสำหรับการเติบโตของพืช  แทนที่จะเป็นการใช้ดินอย่างเดิม ทำให้กำจัดตัวแปรที่ไม่ทราบออกไปจากการทดลองได้จำนวนมาก  ประการที่สองก็คือ พืชหลายชนิดจะให้ผลผลิตได้มากในเวลาที่น้อยกว่าเดิม และในบางครั้งก็มีคุณภาพที่ดีกว่าเดิมด้วย ซึ่งในสภาพแวดล้อมและสภาพการเศรษฐศาสตร์หนึ่งๆ  การปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์จะให้ผลกำไรแก่เกษตรกรมากขึ้น และด้วยการปลูกที่ไม่ใช้ดินจึงทำให้พืชไม่มีโรคที่เกิดในดิน ไม่มีวัชพืช ไม่ต้องจัดการดิน  และยังสามารถปลูกพืชใกล้กันมากได้  ด้วยเหตุนี้พืชจึงให้ผลผลิตในปริมาณที่มากกว่าเดิมขณะที่ใช้พื้นที่จำกัด   นอกจากนี้ยังมีการใช้น้ำน้อยมากเพราะมีการใช้ภาชนะ หรือระบบวนน้ำแบบปิด  เพื่อหมุนเวียนน้ำ  เมื่อเทียบกับการเกษตรแบบเดิมแล้ว   นับว่าใช้น้ำเพียงส่วนน้อยนิดเท่านั้น
 ด้วยคุณภาพที่กล่าวมาข้างต้น  ทำให้ไฮโดรโปนิกส์มีประโยชน์กับการปลูกพืชที่ไม้ใช่วิธีการแบบเดิมๆ นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ได้เสนอมานานแล้วว่า   ไฮโดรโปนิกส์นั้นจะทำให้สถานีอวกาศ หรือ ยานอวกาศ สามารถปลูกพืชไร้ดินได้เอง และคุณสมบัติดังกล่าวนี้ทำให้ไฮโดรโปนิกส์เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกพืชโดยการการควบคุมปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้มากที่สุด และมีความหนาแน่นสูงสุด



ประโยชน์ของระบบไฮโดรโปนิกส์

  • ข้อดีที่เป็นจุดแข็งของผักชนิดนี้ก็การได้ผลผลิตที่สะอาดกว่าการปลูกในดิน ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง ผักที่ได้มีความสวยงามน่ารับประทาน ผักมีรสชาติดี มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และผักสดที่ได้จะมีความนุ่มและกรอบกว่าผักที่ปลูกในดิน
  • การปลูกผักแบบไฮโดรไปนิกส์ไม่ต้องใช้ดินในการเพาะปลูก จึงสามารถปลูกได้ทุกที่ ปลูกได้ทั้งพืชขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีพื้นที่ปลูกน้อย (เช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์) และไม่มีขอบเขตไม่ว่าจะเป็นการปลูกในจำนวนน้อยเพื่อใช้บริโภคเองภายในครัวเรือนหรือปลูกในพื้นที่ขนาดใหญ่ในเชิงธุรกิจ ด้วยเหตุนี้เองวิธีนี้จึงเป็นที่นิยมในการปลูกเป็นอย่างมากในเมืองที่มีประชากรหนาแน่น เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น เนเธอแลนด์ เป็นต้น
  • ช่วยทำให้มีสิ่งแวดล้อมในการปลูกที่เราสามารถควบคุมเองได้มากขึ้นสำหรับการเจริญเติบโตของพืช เพราะเราสามารถกำจัดตัวแปรต่าง ๆ ที่ไม่ทราบออกไปจากการทดลองได้จำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกผักบนดิน
  • การปลูกผักรูปแบบนี้สามารถนำมาใช้ได้กับพืชหลายชนิด (ขึ้นอยู่กับความยากง่ายในการปลูกด้วย) ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับ รวมไปถึงพืชไม้เลื้อยไปจนถึงพืชยืนต้น แต่ในด้านการผลิตเชิงธุรกิจแล้ว จะนิยมปลูกพืชจำพวกผักและไม้ผล ซึ่งเป็นพืชที่เก็บเกี่ยวช่วงอายุสั้นกันมากกว่า
  • พืชผักเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้เร็วกว่าการปลูกพืชผักในดินอย่างน้อยประมาณ 1-2 สัปดาห์
  • ผลผลิตที่ได้จะมีคุณภาพและมีความสม่ำเสมอมากกว่าการเพาะปลูกในดินปกติ เพราะสามารถจัดการและควบคุมสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมต่อพืชที่ปลูกได้ จึงสามารถผลิตพืชได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพราะสามารถเพิ่มรอบการผลิตได้มาก มีอายุสั้น และได้คุณภาพสูง
  • ระบบการปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์จะช่วยประหยัดน้ำมากกว่าการปลูกพืชผักในดินปกติไม่น้อยกว่า 10 เท่า จึงทำให้สามารถปลูกพืชผักได้แม้ในฤดูแล้งหรือนอกฤดูกาลได้ และยังให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าอีกด้วย
  • การปลูกผักประเภทนี้จะมีความสม่ำเสมอของการให้น้ำได้ดีกว่าการปลูกพืชผักในดินปกติ และยังสามารถควบคุมการให้น้ำได้ตามความต้องการของพืชได้ด้วย
  • เราสามารถควบคุมการให้ธาตุอาหารของพืชผักได้ง่ายกว่าการปลูกพืชผักในดิน เพราะช่วยแก้ปัญหาความไม่สม่ำเสมอของธาตุอาหารในดินที่เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดที่แตกต่างกัน ช่วยควบคุมปริมารและรูปของจุลธาตุที่พืชผักต้องการจำนวน 7 ธาตุ (ธาตุเหล็ก, โบรอน, คลอรีน, แมงกานีส, โมลิบดีนัม, ทองแดง, สังกะสี) ให้อยู่รูปที่รากของพืชผักสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้และไม่ให้ในปริมาณที่มากเกินไปจนเป็นพิษต่อพืชผักที่ปลูก ช่วยควบคุมค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ได้ง่าย ซึ่งค่า pH นี้เองที่มีส่วนในการควบคุมรูปของธาตุอาหารให้อยู่ในรูปแบบที่พืชผักสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที อีกทั้งวิธีการนี้ยังช่วยให้ธาตุอาหารของพืชไม่สูญหาย ทั้งในรูปแบบการถูกชะล้างไปจากดิน การจับตัวกับธาตุบางชนิดในดินที่ตกตะกอนไป หรือการเปลี่ยนแปลงไปอยู่ในรูปแบบที่พืชไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้ยังช่วยควบคุมผลตกค้างองการมีธาตุอาหารสะสมในพืช ในดิน และในสภาพแวดล้อมจนเกิดเป็นพิษต่อระบบนิเวศ
  • การปลูกพืชผักแบบไฮโดรโปนิกส์สามารถควบคุมโรคในดินได้ง่ายกว่าการปลูกพืชผักในดิน
  • เนื่องจากเป็นการปลูกพืชผักโดยไม่ใช้ดิน จึงทำให้พืชไม่มีโรคที่เกิดในดิน ไม่มีวัชพืชมารบกวน ไม่ต้องทำการจัดการดิน และยังสามารถปลูกพืชผักใกล้กันมากได้อีกด้วย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์มีผลผลิตที่มากกว่าเดิมในพื้นที่จำกัด
  • หมดปัญหาเรื่องสภาพดินในการที่ไม่มีความเหมาะสม เช่น ดินเค็ม ดินเป็นกรดหรือด่าง รวมไปถึงสภาพการขาดแคลนน้ำต่าง ๆ
  • การจัดการลดปริมาณของไนเตรทในพืชที่ปลูกโดยไม่ใช้ดินจะทำได้ง่ายกว่าพืชที่ปลูกบนดิน เพราะเราสามารถกำหนดใช้ความเข้มข้นของสารละลายธาตุอาหารที่ปลูกเลี้ยงได้ระดับต่ำ หรือเลือกใช้สารละลายธาตุอาหารที่มีความเข้มข้นต่ำมาก นอกจากนี้การลดไนเตรทยังทำได้ด้วยการให้พืชได้รับแสงเพียงพอและอย่าให้พืชขาดโมลิบดีนัม (พืชผักที่มีไนเตรทสูง เมื่อนำมาบริโภคจะเกิดโทษต่อร่างกาย เพราะไนเตรทเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นไนไตรท์ ซึ่งสามารถยับยั้งการพาออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ในร่างกายของเม็ดเลือดแดงได้ ทำให้เกิดอาการขาดอากาศเฉียบพลัน และยังสามารถไปรวมกับสารประกอบอะมีนในร่างกาย และกลายเป็นไนโตรซามีน (Nitrosamine) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่งได้)
  • การปลูกผักแบบไร้ดินก็มีประโยชน์ในด้านภูมิทัศน์เช่นกัน เพราะเราสามารถผลิตพืชสวนประดับเพื่อใช้ประดับอาคารได้
  • ช่วยในการประหยัดต้นทุนต่าง ๆ เช่น ค่าแรงงาน เนื่องจากการปลูกผักในระบบนี้จะเป็นระบบที่ไม่ต้องมีการเตรียมแปลงเพาะปลูกขนาดใหญ่เหมือนการปลูกพืชผักในดิน จึงไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่องการเตรียมดิน การยกร่อง ค่าปุ๋ย รวมไปถึงค่ากำจัดวัชพืชต่าง ๆ และช่วยลดการนำเข้าของผักและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดค่าขนส่งได้อีกด้วย เพราะเราสามารถเลือกผลิตใกล้แหล่งรับซื้อได้ จึงทำให้มีศักยภาพในเชิงการค้าสูง
  • สามารถสร้างอาชีพทำรายได้ให้กับบุคคลทั่วไปที่สนใจ และผู้ด้อยโอกาสทางร่างกายได้ เช่น ผู้พิการโดยกำเนิด ทหารผ่านศึกที่ได้รับความพิการจากการสู้รบ เป็นต้น
  • ในด้านประโยชน์อย่างอื่น เช่น มีประโยชน์ในด้านการส่งเสริมการนันทนาการในครอบครัว เพราะการปลูกผักไว้เพื่อบริโภคภายในครอบครัวก็ช่วยทำให้เกิดความเพลินเพลินใจและทำให้รู้หลักการปลูกพืชในเบื้องต้นได้เป็นอย่างดี และการปลูกพืชไร้ดินยังมีประโยชน์ในด้านการศึกษาอีกด้วย เช่น การศึกษาทดลองของนักเรียน นักศึกษา รวมไปถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจ เป็นต้น
  • ช่วยส่งเสริมศักยภาพในการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ เนื่องจากเราสามารถควบคุมอุณหภูมิของสารอาหารและจัดการผลิตพืชผักเมืองหนาวที่เป็นคุ้นเคยของชาวต่างชาติได้ มันจึงเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลานานได้บริโภคพืชผักที่ตนคุ้นเคย
  • การปลูกพืชผักไร้ดินกับโครงการอวกาศ จะทำให้ยานอวกาศหรือสถานีอวกาศสามารถปลูกพืชผักไรดินได้เอง และการปลูกพืชผักไร้ดินไม่เพียงแต่จะก่อประโยชน์กับชีวิตและความเป็นอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดประโยชน์กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตในอนาคตเป็นอย่างมาก


ข้อเสียของระบบไฮโดรโปนิกส์

  • การปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์จะมีต้นทุนการผลิตเริ่มต้นค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องใช้อุปกรณ์ในการเพาะปลูกต่าง ๆ มากมายและมีราคาแพง แต่มีศักยภาพในการคืนทุนเร็ว (ในปัจจุบันเราสามารถหาซื้อชุดปลูกผักสำเร็จรูปได้ในแบบราคาย่อมเยา หรือจะศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อทำเองก็ได้)
  • ผู้ปลูกต้องมีความชำนาญและมีประสบการณ์มากพอสมควรในการควบคุมดูแล เพราะถ้าไม่มีความรู้หรือไม่มีความสามารถในการจัดการที่ดีพอก็อาจทำให้พืชผักที่ปลูกมีปริมาณธาตุอาหารในพืชสูงได้
  • ผู้ปลูกจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานของสรีรวิทยาของชนิดพืชที่จะปลูก รวมไปถึงพื้นฐานทางเคมีและธาตุอาหารที่พืชต้องการ
  • การปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์ต้องมีการควบคุมดูแลอย่างสม่ำเสมอ
  • วัสดุที่ใช้ในการเพาะปลูกบางอย่างจะเน่าเปื่อยหรือสลายตัวได้ยาก ซึ่งอาจเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมได้ ถ้าหากไม่มีการจัดการที่ดีพอ
  • มีข้อจำกัดของชนิดพืชที่ปลูกมีค่อนข้างสูง ทำให้การเลือกพืชที่จะเพาะปลูกในเชิงพาณิชย์จะต้องมีการศึกษาตลาดอย่างถี่ถ้วน และควรเป็นพืชที่แตกต่างจากพืชที่ปลูกกันอยู่ทั่วไปบนดิน
  • นอกจากนี้ในบริเวณที่จะติดตั้งระบบไฮโดรโปนิกส์ จะต้องมีระบบไฟฟ้าและระบบน้ำที่พร้อม เนื่องจากเป็นพื้นฐานของการติดตั้งระบบการปลูกด้วยวิธีนี้


ประโยชน์ของผักไฮโดรโปนิกส์

  • ผักไฮโดรโปนิกส์เป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูง และไม่มีสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกาย
  • มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคสูง เนื่องจากการปลูกผักไร้ดินเป็นการนำสารละลายธาตุอาหารมาละลาย โดยใช้ธาตุอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการพืช เช่นเดียวกับการปลูกพืชบนดิน แต่ต่างกันตรงที่ผักที่ปลูกในดินจะต้องอาศัยจุลินทรีย์มาเปลี่ยนเป็นอาหาร ทำให้บางครั้งหากในดินมีธาตุโลหะหนักที่เป็นพิษต่อผู้บริโภค จุลินทรีย์ก็จะเปลี่ยนให้พืชสามารถดูดธาตุที่เป็นพิษเข้าไปได้ ในขณะที่การปลูกพืชไร้ดิน จะสามารถควบคุมแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชได้ ผู้บริโภคจึงได้รับประทานผักสดสะอาดที่มีความปลอดภัยสูง
  • ข้อดีของการบริโภคผักไฮโดรโปนิกส์ คือ การคงคุณประโยชน์ที่โดดเด่นที่สุดของผักเอาไว้ได้อย่างเต็มที่ เช่น กากใยอาหาร ที่เป็นตัวช่วยในการล้างผนังลำไส้และเป็นตัวช่วยในการขับถ่าย
  • มีการรับรองว่าพืชผักไร้ดินจะมีปริมาณแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์เท่ากับพืชผักที่ปลูกบนดินหรือสูงกว่าเล็กน้อย แต่พืชผักไร้ดินจะมีกลิ่นที่มาจากน้ำมันหอมระเหยและมีรสชาติน่าชวนชิมมากกว่าพืชผักที่ปลูกบนดิน
  • ผักไฮโดรโปนิกส์ที่นิยมส่วนใหญ่จะเป็นผักสลัดที่นำมารับประทานสด เช่น ผักกรีนคอส (Green Cos) เป็นผักที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กที่ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง นอกจากจะใช้เป็นส่วนประกอบในสลัดแล้ว ยังนิยมนำไปผัดน้ำมันอีกด้วย, ผักกรีนโอ๊ค (Green Oak) หรือ ผักเรดโอ๊ค (Red Oak) เป็นผักที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี โฟเลท และธาตุเหล็ก, ผักเรดคอรัล (Red Coral) เป็นผักที่อุดมไปด้วยใยอาหาร โฟเลท สารต้านอนุมูลอิสระ รวมไปถึงเบต้าแคโรทีน, ผักบัตเตอร์เฮด (Butterhead) เป็นผักที่อุดมไปด้วยโฟเลทและสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น